เอ็ม-คอมเมิร์ซ (Mobile Electric Commerce : M-commerce) หรือการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าผ่านเครื่องมือสื่อสารไร้สายชนิดต่างๆ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์พกพา (Personal Digital Assistant : PDA) เช่น ปาล์ม (palm) iPAQ, PocketPC ฯ
โทรศัพท์เคลื่อนที่ ปริมาณทำธุรกรรมมากที่สุด เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สื่อสารไร้สายที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และใช้งานกว้างขวาง ผู้ใช้สูงถึง 27.5 ล้านเลขหมาย สิ้นปี 2547 มูลค่าตลาดสูงถึง 20,000 ล้านบาท
ความนิยมทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ สูงขึ้น ไม่เพียงเฉพาะจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น แต่ระบบให้บริการมีความหลากหลาย และเข้าสู่การใช้บริการง่ายมากขึ้น หลังจากนำเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน WAP (Wireless Application Protocol) และ GPRS (General Pocket Radio Service)
ที่ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ คุณภาพดีขึ้น ภาพคมชัด และความเร็วเชื่อมต่อสูงขึ้น นอกจากใช้ SMS (Short Message Services) ทำธุรกรรม
ประเภทสินค้าและบริการที่ได้รับความนิยม และปริมาณซื้อขายผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบัน ได้แก่
• การส่งเอสเอ็มเอสร่วมรายการโทรทัศน์ เป็นการตกลงระหว่างผู้ให้บริการเครือข่าย (mobile operator) กับผู้ให้บริการเนื้อหา หากมีผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการเครือข่ายจะได้ส่วนแบ่งเป็นค่าใช้เครือข่าย ขณะที่ผู้ให้บริการเนื้อหา จะได้ส่วนที่เหลือ
• ปกติ อัตราค่าบริการส่งเอสเอ็มเอสร่วมรายการโทรทัศน์ จะมีค่าส่งระหว่าง 6-9 บาทต่อครั้ง การสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยปี 2547 พบว่า 32.2% ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เคยส่งข้อความร่วมสนุกกับรายการโทรทัศน์
• ดาวน์โหลดรูปภาพ โลโก้ ริงโทน และเกม เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากปัจจุบัน การสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย 55.5% ของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เคยใช้บริการดาวน์โหลดริงโทน 53.4% เคยใช้บริการดาวน์โหลดรูปภาพ 38.3% เคยใช้บริการดาวน์โหลดเกม
• อัตราค่าบริการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ค่อนข้างสูง ค่าบริการช่วง 15-40 บาทต่อครั้ง การดาวน์โหลด ผู้ที่ต้องการดาวน์โหลด สามารถเลือกรูปภาพ ริงโทน หรือ เกม ต่างๆ จากผู้ให้บริการเนื้อหาแต่ละรายที่ระบุไว้
• จากนั้น ส่งเอสเอ็มเอสหมายเลขบริการที่ต้องการ หลังจากนั้น ผู้ให้บริการจะส่งไฟล์ข้อมูลให้ และดาวน์โหลดผ่านระบบจีพีอาร์เอส เก็บไว้ที่เครื่องโทรศัพท์
• ซื้อสินค้าและบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภทสินค้าและบริการที่ได้รับความนิยม คือ ช่อดอกไม้ และตั๋วชมภาพยนตร์ การสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย 7.9% ของผู้ใช้โทรศัพท์ เคยใช้บริการซื้อตั๋วภาพยนตร์ 5.3% เคยใช้บริการสั่งซื้อดอกไม้
• โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังสามารถสั่งซื้อเครื่องดื่มจากตู้อัตโนมัติที่ให้บริการได้ ผู้ใช้เพียงโทรศัพท์ไปเลขหมายกำกับเครื่องดื่มแต่ละประเภท และโทรออก ตู้อัตโนมัติจะแสดงเลขหมายโทรศัพท์ผู้ใช้บนตู้ เพื่อให้ผู้ใช้ยืนยันการสั่งซื้อ ด้วยการกดประเภทเครื่องดื่มที่ต้องการอีกครั้ง ก็จะได้เครื่องดื่มที่ต้องการทันที โดยไม่ต้องหยอดเหรียญเหมือนที่ผ่านมา
• ซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้า โดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือชำระเงิน (m-purse) หรือเป็นกระเป๋าเงิน แทนใช้เงินสดหรือบัตรเครดิต ซึ่งเป็นบริการใหม่ที่เพิ่งเริ่มเปิดบริการ
• ผู้ใช้โทรศัพท์ที่ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้า สามารถส่งข้อความเอสเอ็มเอสเพื่อหักเป็นค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ได้จากบัญชีธนาคารที่เปิดบริการไว้ หรือเรียกเก็บจากบิลเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน หรือหักจากมูลค่าบัตรเติมเงิน หรือหักจากบัตรเครดิต ก็ได้ บริการนี้ ผู้ใช้โทรศัพท์จะสามารถใช้บริการได้เฉพาะร้านค้าที่ร่วมให้บริการเท่านั้น
• ปัจจัยช่วยกระตุ้นบริการเอ็ม-คอมเมิร์ซได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย
- การพัฒนาเทคโนโลยีชำระเงิน (m-payment) ที่ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทั้งรูปแบบเรียกเก็บจากบิลค่าใช้บริการรายเดือน หักจากบัตรเติมเงิน หักผ่านบัญชีธนาคารที่ให้บริการ หรือหักผ่านบัตรเครดิต ล่าสุด หักจากเงินที่เก็บไว้กับหมายเลขโทรศัพท์
โดยก่อนใช้งาน ผู้ใช้โทรศัพท์ต้องขึ้นทะเบียนกับเครือข่ายที่ใช้งาน เพื่อโหลดเงินเก็บไว้ที่โทรศัพท์ การโอนเงินไปเก็บที่โทรศัพท์ ทำได้โดยผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารที่ให้บริการ
- รูปแบบใช้งานไม่ยากนัก บริการส่วนใหญ่ ยังอาศัยวิธีส่งเอสเอ็มเอส ซึ่งเป็นบริการที่ผู้ใช้โทรศัพท์คุ้นเคย เพิ่มขึ้น ขณะที่หากใช้บริการผ่านแวพไซต์ (Wap Site)/จีพีอาร์เอส ก็ทำได้สะดวก และมีความรวดเร็วรับส่งข้อมูลมากยิ่งขึ้น
- เครื่องลูกข่ายพัฒนาให้สามารถรองรับบริการได้หลากหลาย ปัจจุบัน เครื่องลูกข่ายที่สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น GPRS, Bluetooth ประกอบกับจอภาพสี ระบบเสียง และหน่วยความจำของเครื่อง เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาไม่สูงนัก
ทำให้มีผู้ใช้งานมากขึ้น เทคโนโลยีเครื่องเหล่านี้ สามารถรองรับบริการใหม่ๆ ที่เริ่มให้บริการ เช่น ภาพหน้าจอ เสียงเรียกเข้าแบบทรูโทน วิดีโอคลิป นับว่ามีส่วนกระตุ้นให้ใช้งานเพิ่มขึ้น
- บริการใหม่ๆ เปิดบริการต่อเนื่อง การพัฒนาคอนเทนท์ หรือเนื้อหาบริการ
พัฒนารูปแบบสนองความต้องการผู้ใช้โทรศัพท์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการความบันเทิงต่างๆ รวมถึงพัฒนาให้โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถชำระเงินซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ได้ ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์มีทางเลือกใช้บริการมากขึ้น สะดวกมากยิ่งขึ้น
แนวโน้มเอ็ม-คอมเมิร์ซ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เอ็มคอมเมิร์ซ จะเป็นบริการที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ช่วงแรกของการให้บริการ จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ โดยเฉพาะบริการ m-payment
เนื่องจากร้านค้าหรือบริการที่ร่วมให้บริการ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตกรุงเทพ กลุ่มเป้าหมายที่จะใช้บริการมาก คือกลุ่มวัยรุ่นที่พฤติกรรมใช้โทรศัพท์คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
อย่างไรก็ตาม รูปแบบบริการ คาดว่าจะพัฒนาให้สามารถรองรับการใช้งานได้ในกลุ่มอื่นๆ มากยิ่งขึ้นอีก ทั้งมีแนวโน้มว่า จะมีบริการ หรือร้านค้า ที่จะร่วมให้บริการเพิ่มขึ้น รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสาร โดยนำเทคโนโลยี Bluetooth เทคโนโลยี EDGE (Enhanced Data Rate for GSM Solution) ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริการเอ็ม-คอมเมิร์ซ ก็ยังมีข้อจำกัดให้บริการที่สำคัญ เช่น
ระบบรักษาความปลอดภัยของบริการ เอ็ม-คอมเมิร์ซ เป็นบริการเกี่ยวข้องกับการเงิน ที่การให้บริการ ต้องมีความปลอดภัย และได้รับความเชื่อถือจากผู้ใช้บริการ ว่าข้อมูลการเงินที่ทำธุกรรม จะเป็นความลับ และไม่ถูกโจรกรรมจากมิจฉาชีพ หรือแฮกเกอร์ เหมือนเช่นปรากฎในการซื้อขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต (e-commerce)
ภาษาให้บริการ ส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาอังกฤษ ที่ผู้ใช้โทรศัพท์ในประเทศยังคงไม่มีความชำนาญใช้ภาษามากนัก
การแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีไวรัสแพร่ระบาดทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น แม้ปัจจุบัน ยังไม่มีการโจมตีที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่ก็ทำให้เกิดความไม่มั่นใจใช้บริการ โดยเฉพาะหากต้องเชื่อมต่อลักษณะโอนถ่ายข้อมูลกัน อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการต้องพัฒนา หรือให้ความมั่นใจผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น